ประเด็นร้อน

เปิดตัว 'ก๊วนขรก.' สูบงบกระทรวง 'นักบุญ'

โดย ACT โพสเมื่อ Mar 15,2018

 - - สำนักข่าวคมชัดลึก - -

 

ถึงนาทีนี้ชัดเจนแล้วว่าไม่ใช่แค่เพียง "เงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและคนไร้ที่พึ่ง" เท่านั้นที่มีการทุจริตในวงกว้าง เรียกว่าเกินครึ่งประเทศไปแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. ยังพบว่าเงินสงเคราะห์ที่จ่ายผ่าน "นิคมสร้างตนเอง" ก็มีการทุจริตเช่นกัน แถมตัวเลขงบประมาณก็สูงกว่า เพราะผู้ปกครองนิคมสร้างตนเองมีระดับ "ซี"  สูงกว่า ผอ.ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง

 

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่ากรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีหน่วยงานระดับ "กอง" ที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย คนด้อยโอกาส คนไร้ที่พึ่ง  และผู้ติดเชื้อ เอชไอวี รวม 2 กอง

 

หนึ่ง คือ กองคุ้มครองสวัสดิภาพและเสริมสร้างคุณภาพชีวิต ดูแลศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ

 

สอง คือ กองพัฒนาสังคมกลุ่มเป้าหมายพิเศษ ดูแลนิคมสร้างตนเอง กับศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง

 

สำหรับ "นิคม สร้างตนเอง" ก็มีไม่น้อยเหมือนกัน คือมีถึง 44 นิคมทั่วประเทศ แต่ไม่ใช่ 44 จังหวัด เพราะบางจังหวัดมี 3 นิคม เช่น สงขลา บางจังหวัดมี 2 นิคม เช่น อุบลราชธานี เป็นต้น ส่วนศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงมี 20 ศูนย์ กระจายอยู่ใน 20 จังหวัด

 

ฉะนั้นหน่วยงานระดับพื้นที่ที่ดูแลงบประมาณในส่วนนี้จึงแยกย่อยเป็นศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 77 ศูนย์ นิคมสร้างตนเอง 44 นิคม และศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง 20 ศูนย์

 

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ขบวนการทุจริต ที่วางโครงสร้างโดย "ข้าราชการระดับสูง" หรือ  "บิ๊ก พม." เขาทำกันอย่างไรถึงสร้างเครือข่ายการโกงได้กว้างขวางขนาดนี้...

 

วิธีการคือ "บิ๊ก พม." จะส่งคนของตัวเองไปประจำตามศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งแต่ละจังหวัด หากใครแตกแถว ไม่ยอมส่งส่วย "เงินทอน" ก็จะถูกสั่งย้ายทันที

 

"ทีมข่าว" มีโอกาสจับเข่าคุยกับอดีต ผู้อำนวยการศูนย์คนไร้ที่พึ่งจังหวัดหนึ่ง หลังถูก สั่งย้ายเข้ากรุ เพียงเพราะไม่ร่วมมือในการ ทุจริต เขาเล่าว่า ขบวนการข้าราชการ  "งาบงบคนจน" มีมานานหลายสิบปีแล้ว แต่เงิน ในส่วนของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เพิ่งมีขึ้น ในช่วงปีงบประมาณ 2560-2561 โดย "บิ๊ก พม." เป็นผู้วางคนของตัวเองลงไปยังพื้นที่ต่างๆ  ทั้ง 77 ศูนย์ หรือ 77 จังหวัด เรียกได้ว่าเป็นลักษณะของ "มิจฉาชีพปล้นคนเงินคนจน"

 

"ครั้งนี้เป็นเหมือนแก๊งมิจฉาชีพในกระทรวง เริ่มตั้งแต่ไปให้เจ้าหน้าที่ระดับเด็กๆ วิ่งหาบัตรประชาชนใบละ 100-200 บาท ไปซื้อมา ซึ่ง ชาวบ้านบอกว่ามีเจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งไปขอเอาไปเป็นหลักฐานเพื่อเบิกเงิน แต่ว่าไม่ได้เงิน แต่เจ้าหน้าที่จะให้เงินคนที่ให้บัตร 100-200 บาท แล้วก็เอามาเบิกงบไป จะเห็นได้ว่าแก๊งนี้ลงลึกถึงระดับล่าง ถึงเด็กที่หาบัตร" อดีต ผอ.ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ซึ่งถูกย้ายเพราะไม่ยอมร่วมวงโกง  ให้ข้อมูล

 

ไม่ใช่แค่เพียงการปลอมเอกสาร จ่ายเงิน ไม่ครบ และการจ่ายเงินสงเคราะห์ให้คนที่ไม่เข้า หลักเกณฑ์ได้รับความช่วยเหลือเท่านั้นที่เป็น ปัญหาของโครงการนี้ แต่อดีตผอ.ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ยังบอกอีกว่า มีการนำบัตรประชาชนของ "จิตอาสาเฉพาะกิจ" ของกระทรวง ไปเป็น รายชื่อในการเบิกเงินด้วย ทั้งที่พวกเขาไม่อยู่ในหลักเกณฑ์การได้เงิน

 

"พอไปดูหลักฐานคนได้รับ สรุปว่าเป็น อาสาสมัคร แล้วอาสาสมัครบอกว่าเขาไม่รู้เรื่องเลย บัตรประชาชนโดนขโมยมาจากไหนไม่รู้ แล้วก็มีเยอะด้วย ที่อุดรธานีก็มี สุราษฎร์ธานี และขอนแก่น  เป็นรูปแบบการโกงแบบเดียวกัน"

 

สำหรับวิธีการเบิกจ่ายเงิน อดีตผอ.ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เล่าว่า เป็นการเบิกงบล่วงหน้า ซึ่งปกติแล้วเจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง แต่ละจังหวัดต้องออกสำรวจประชาชนที่มีความเดือดร้อนก่อนว่ามีจำนวนเท่าใด จากนั้นจึงเสนอรายชื่อพร้อมแนบรูปถ่ายการสำรวจ หรืออ้างอิงจากข้อมูลเส้นความยากจน เพื่อเสนอให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการทำเรื่องเบิกงบจากสำนัก งบประมาณ ก่อนกระจายให้ชาวบ้าน

 

แต่ในกรณีนี้ไม่มีการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูล เมื่อมีงบประมาณลงมา ผู้บริหารระดับกรมจะมีอำนาจในการอนุมัติ ก่อนมอบอำนาจให้ผอ.ศูย์ กระจายเงินโดยไม่มีการตรวจสอบ เพื่อให้เป็น ช่องโหว่ในการส่งเงินทอนกลับเข้ากระเป๋าข้าราชการระดับสูง

 

ส่วนวิธีการส่งเงินทอนเข้ากระเป๋าข้าราชการระดับสูงในกระทรวงนั้น อดีตผอ.ศูนย์คุ้มครอง คนไร้ที่พึ่ง ให้ข้อมูลว่า จะมีเจ้าหน้าที่ระดับ ผู้อำนวยการกองทำเรื่องออกราชการต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่ได้รับงบประมาณสงเคราะห์เกิน 1 ล้านบาท เพื่อไปตระเวนเก็บ "เงินทอน"  ให้บรรดานายๆ

 

นี่คือความเลวร้ายของขบวนการ "ปล้นคนจน" ที่เรียกได้ว่าเป็นการ "ปล้นกลางแดด" กันเลยทีเดียว คำถามที่หลายคนอยากรู้ในขณะนี้ก็คือ ขบวนการนี้มีใครเกี่ยวข้องบ้าง?

 

อดีตผอ.ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เล่าว่า ขบวนการปล้นเงินคนจน มีฉายาที่คนในกระทรวงเรียกกันว่า "แก๊งอสูร" โดยหัวหน้าก๊วนเป็น อดีตข้าราชการระดับสูงของกระทรวงหนึ่งที่ถูกให้ออกจากราชการ เพราะกินหัวคิวโครงการต่างๆ ของกระทรวงนั้นจนอิ่มหมีพีมัน โดยมีลูกน้อง คนสนิทเคยเป็นเลขาฯ ใกล้ชิด มาเติบโตในกระทรวง พม. เป็นถึง "ระดับบิ๊ก" ในกรมที่ได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวนมากในแต่ละปี

 

จากนั้นอดีตเลขาฯ คนนี้ก็แต่งตั้ง  "นายเก่า" ที่เคยถูกออกจากราชการนั่นแหละ  ให้มาเป็นประธานที่ปรึกษา ทำหน้าที่ถ่ายทอด วิชาโกง ด้วยวิธีการขโมยหลักฐานจากประชาชน ปลอมลายเซ็น และเบิกงบเดินทางไปราชการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศหลายสิบล้านบาท

 

นั่นแค่คนแรกคือ "หัวหน้าก๊วน" เท่านั้น  ยังมีคนต่อมาคือ "บิ๊กระดับกระทรวง" อีกคนหนึ่ง สร้างเครือข่ายของตัวเองโดยจัดสรรตำแหน่งให้ ลูกน้องที่ทอนเงินคนจนกลับคืนมา และเตรียม ชุบเลี้ยงลูกน้องคนสนิทเป็นข้าราชการระดับสูงสืบทอดอำนาจต่อไป

 

คนถัดมาคือ "บิ๊กระดับรอง" ที่เป็นคน คุมงานนิคมสร้างตนเอง และศูนย์พัฒนาราษฎร บนพื้นที่สูง ผ่านทางนิคมสร้างตนเองแห่งหนึ่ง ในภาคอีสาน มีพฤติการณ์ทุจริตงบประมาณปี 2559 ถึงปี 2560 จนกลายเป็น "โมเดลต้นแบบการโกง"

 

"คนนี้เป็นคนวางเครือข่ายระดับอำเภอ เป็นเจ้าของโมเดลต้นแบบ แต่เป็นต้นแบบหาตังค์นะ เพราะเป็นผู้ปกครองนิคม ไปดูได้เลยว่างบประมาณมหาศาล แล้วก็แตกลูกน้องของตัวเองไปเป็นผู้อำนวยการศูนย์ต่างๆ คุมในหน่วยงานระดับภาคอีสานทั้งหมด" อดีต ผอ.ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งซึ่งถูกเด้งเข้ากรุ ระบุ

 

อีกคนหนึ่งในก๊วนนี้คือ "ผู้ตรวจราชการ"และยังเป็นอดีตรองอธิบดีกรมหนึ่ง คุมงบประมาณที่เชื่อมโยงกับศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ตรวจสอบประวัติพบว่าผู้ตรวจคนนี้ขึ้นตำแหน่งระดับ 9 หรือ ซี 9 อย่างรวดเร็ว คนถัดมาเป็น ข้าราชการระดับ ผอ. เช่นกัน คุมงบประมาณที่เชื่อมโยงกับนิคมสร้างตนเองและศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง คนสุดท้ายคือ ระดับ ผอ. อีกคน ปฏิบัติงานแฝง มีหน้าที่เก็บเงินทอนคนจน

 

"ก๊วนข้าราชการ" ที่สร้างวงจรการทุจริต  ถูกตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสตง.เคยส่งหนังสือรายงานผลการตรวจสอบถึงรัฐมนตรีคนก่อนหน้านี้ เมื่อเดือน มิถุนายนปีที่แล้ว แต่กลับไม่มีการจัดการอะไรอย่างเด็ดขาด ทำให้คนในกระทรวงคลางแคลงใจ

 

อดีตผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง  ที่เปิดโปงข้อมูลนี้อธิบายว่า หลังรับเรื่องจากสตง. รัฐมนตรีก็สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว แต่คณะกรรมการล้วนแต่เป็นลูกน้องของคนในเครือข่าย "ก๊วนข้าราชการ" ที่ปฏิบัติการปล้น กลางแดด การสอบสวนจึงเงียบไป

 

และทำให้ "ก๊วนข้าราชการก๊วนนี้" ยังคง อยู่ดีมีสุข

 

 
 

 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw